วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ศิลปะ


    ปกสมุด  


                                        
จิตกรรมไทย
หลาย ๆ ท่านคงได้ทราบแล้วว่างานจิตรกรรมไทยประเพณีโบราณเป็นงานที่ประณีต  วิจิตรบรรจง  มีลักษณะการสร้างสรรค์ในแบบอุดมคติเล่าเรื่องราวทางพุทธประวัติ ทศชาติ ไตรภูมิ วรรณคดี ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นฯ  เอกลักษณ์เฉพาะที่พบเห็นอย่างเด่นชัดในงานจิตรกรรมไทยคือ  การตัดเส้น  สำหรับหัวข้อนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับเรื่องราวของเส้น  และวิธีการฝึกฝนการตัดเส้นกันเลยครับ...

พระพิฆเนศวร์  ลงสีตัดเส้นบนกระดาษ ๑๐๐ ปอนด์เรียบ โดยผู้เขียน

         ด้วยคุณลักษณะอันเป็นแบบอย่างเฉพาะตัวของงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี  การใช้ทัศนธาตุต่าง ๆ อันมีเส้นเป็นประธานนั้น  ผู้ที่ได้ศึกษาในระยะเริ่มแรกจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากในการใช้เส้น  โดยเฉพาะการตัดเส้นด้วยพู่กัน  เพื่อให้ได้เส้นที่สวยงามตามความต้องการ  ฉะนั้นวิธีการฝึกฝนเพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญ  จำต้องศึกษาคุณลักษณะของเส้น  ความรู้สึกที่เกิดจากลักษณะของเส้น  ความรู้สึกที่เกิดจากทิศทาง  เส้นโครงสร้างและหน้าที่ของเส้น  หากจะกล่าวโดยเนื้อหาทั้งหมดก็เป็นเรื่องยืดยาวเกินไป  จะกล่าวโดยสรุปไว้พอสังเขปได้ดังนี้
         เส้นมีมิติเดียว  คือ  ความยาว  มีลักษณะต่าง ๆ  มีทิศทาง  และมีขนาด
         ลักษณะต่าง ๆ ของเส้น  ได้แก่  ตรง โค้ง คด เป็นคลื่น ฟันปลา เกล็ดปลา ก้นหอย ชัด พร่า ประ ฯลฯ
         ทิศทางของเส้น  ได้แก่  แนวราบ แนวดิ่ง แนวเฉียง แนวลึก
         ขนาดของเส้น  เส้นไม่มีความกว้าง  มีแต่เส้นหนา  เส้นบาง  หรือเส้นใหญ่ เส้นเล็ก  ความหนาของเส้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับความยาว  ถ้าเส้นสั้นแต่มีความหนามาก  จะหมดคุณลักษณะของความเป็นเส้น  กลายเป็นรูปร่าง (Shape) สี่เหลี่ยมผืนผ้าไป  วิธีการตัดเส้นให้ได้ความรู้สึก  ได้ขนาดมีทิศทาง  กำหนดเส้นโครงสร้าง (เส้นแกน) และเส้นทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบนั้น  ประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้  คือ
         ๑.  กำหนดขนาดพู่กัน  (ชนิดขนยาวพิเศษ)  ให้เหมาะสมและสมดุลกับขนาดของเส้น  หรือใช้พู่กันเบอร์เดียวเขียนโดยการควบคุม (Control) น้ำหนักมือให้ได้ตามความต้องการ  วิธีนี้ต้องผ่านการฝึกฝนมาพอสมควร

                                                           เนื้อสีน้อย  น้ำมาก
ภาพการทดสอบเส้น  โดยใช้พู่กันเบอร์ ๐ พิเศษ  เบอร์เดียว

         ๒.  นำสีมาผสมกับน้ำ  (สีน้ำ สีโปสเตอร์ สีฝุ่น หรือสีอะคริลิค) ให้ได้เนื้อสีหรือน้ำสีตามความต้องการ  แล้วทดสอบเส้นบนกระดาษอื่นเสียก่อน  เมื่อได้เส้นและสีที่ต้องการแล้วจึงนำมาตัดลงบนชิ้นงาน
         ๓.  ตัดเส้นตามลักษณะเฉพาะของสิ่งที่เราจะเขียน  เช่น  คน  สัตว์  สิ่งของ  ต้นไม้  ใบไม้  ก้อนหิน  ภูเขา  หรือการตัดทอง (ทองคำเปลวปิดโดยใช้ยางมะเดื่อ  หรือเคมีปิดทองทาระบายลงไปก่อน) ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงคุณลักษณะของสิ่งเหล่านั้นว่ามีส่วนเฉพาะตัวอย่างไร เช่น ตัวพระ  ตัวนาง  สีผิวกายกับสีที่ใช้ตัดเส้นควรจะสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืน  ไม่ควรใช้สีตัดกันมาก  จะทำให้ดูแข็งกระด้าง  การผ่อนน้ำหนักมือขณะทำการตัดเส้นจะได้เส้นที่มีน้ำหนักอ่อนแก่มีความรู้สึก  ไม่เป็นเส้นลวด  หากได้ศึกษาถึงธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน  จะช่วยให้การตัดเส้นในงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณีมิใช่เรื่องยากอีกต่อไป
         ๔.  จัดลำดับการตัดเส้นว่าควรจะตัดส่วนไหนก่อน  เมื่อขึ้นสีพื้นและส่วนประกอบต่าง ๆ ภายในภาพหมดแล้ว  ก็ให้พิจารณาดูว่า  ภาพของเรานั้นมีส่วนใดที่เป็นจุดเด่นมากที่สุด  จะได้ลดความสำคัญของส่วนอื่น ๆ ลงไป  ภาพที่เสร็จสมบูรณ์แล้วจะมีความเป็นเอกภาพ (Unity) อย่างแท้จริง  วิธีจัดลำดับการทำงานโดยส่วนมากจะเริ่มเขียนภาพจากฉากหลัง  ทิวทัศน์  ต้นไม้  ภูเขา  โขดหิน  และสถาปัตยกรรมให้เสร็จเสียก่อน  แล้วจึงเริ่มตัดเส้นตัวภาพจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการตัดทอง  และการปิดทองนั้นควรทำหลังสุด  เพื่อป้องกันทองหมองหรือเกิดความมันจากเหงื่อจะทำให้ตัดเส้นไม่ติด  การป้องกันสามารถกระทำได้โดยการใช้สะพานไม้รองมือ  หรือใช้กระดาษทดสอบเส้นปิดไว้ก็ได้  สีที่ใช้ตัดเส้นทองในส่วนที่เป็นเครื่องประดับจะใช้สีแดง  โบราณใช้แดงชาดทำให้ทองเกิดประกายสุกปลั่ง  ปัจจุบันหาสีแดงชาดค่อนข้างลำบากและวิธีการผสมก็ยุ่งยาก  จึงใช้สีแดงสดผสมกับสีดำนิดหน่อย  เพื่อลดค่าของสี  ผลที่ได้ก็ใกล้เคียงกับของโบราณ  ตัดเส้นให้มีน้ำหนักและแยกรูปทรงของแต่ละส่วนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว  ภาพที่ออกมาจะสมบูรณ์

ภาพวิธีการฝึกตัดเส้น  ควรเขียนให้ได้เส้นในทุกลักษณะ

         จากส่วนประกอบอันเป็นปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้วนั้น  ชี้ให้เห็นถึงแนวทางวิธีการตัดเส้น  สำหรับผู้ที่เริ่มต้นศึกษางานจิตรกรรมไทยแบบประเพณีในเบื้องแรก  หากต้องการศึกษาอย่างลึกซึ้งและสามารถเข้าถึงศิลปะในงานจิตรกรรมไทยแล้ว  จำต้องฝึกฝนฝีมือเพื่อให้เกิดทักษะอย่างชำนิชำนาญ  โดยเฉพาะการตัดเส้นนั้น  ฝึกใช้พู่กันเขียนเส้นให้ชินมือเหมือนกับเขียนด้วยปากกาหรือดินสอ  ทำให้ได้ทุกวันจะเกิดความชำนาญไปเอง  จนสามารถใช้พู่กันตัดเส้นเขียนตัวหนังสือได้เล็กเหมือนกับใช้ปากกาเขียน  วิธีการฝึกฝนควรเขียนให้ได้เส้นในทุกลักษณะ  เช่น  เส้นตรงที่ยาวมาก ๆ ฝึกใช้ไม้บรรทัดรองตัดจะช่วยให้ได้เส้นที่แน่นอนและงานเร็วขึ้น  เส้นโค้ง หรือเส้นคดจะใช้มากในการเขียนลายกระหนก  เส้นวงกลมเขียนให้กลมจริง ๆ ดั้งนี้ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น